การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง
          การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  หมายถึง  การจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เรียนรู้  โดยพยายามจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้  ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล  สื่อ  และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  โดยใช้กระบวนการต่าง ๆ  เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และผู้เรียนมีโอกาสนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่น  การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  แต่การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ขึ้นมาได้เองนั้นเป็นเรื่องยาก  ผู้สอนจึงมีหน้าที่เตรียมจัดสถานการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ  นำไปสู่การเรียน  โดยไม่ใช้วิธีบอกความรู้โดยตรง  รวมถึงการแนะนำแนวทางที่จะทำงานให้สำเร็จ  และในขณะที่ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ  ผู้สอนควรสังเกตการณ์อยู่ด้วย
          เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนทำงานร่วมกับผู้อื่น
          ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญของผู้สอนประการหนึ่ง คือ  ผู้สอนเข้าใจว่าการจัดการเรียนการสอนแบบนี้ต้องจัดโต๊ะเก้าอี้ให้นักเรียนทำงาน โดยไม่เข้าใจว่าการนั่งรวมกลุ่มกันนั้นทำเพื่ออะไร  ความเข้าใจที่ถูกต้องคือ  เมื่อผู้เรียนจะต้องทำงานร่วมกัน  จึงจัดเก้าอี้ให้นั่งรวมกลุ่ม  ไม่นั่งร่วมกลุ่มแต่ต่างคนต่างทำงานของตัวเอง  ซึ่งรูแบบการจัดการเรียนการสอนประเภทหนึ่งที่ผู้สอนควรศึกษาเป็นแนวทางนำไปใช้เป็นเทคนิค  ในการจัดกิจกรรม  คือ รูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยผู้เรียนรู้ร่วมกัน  (Cooperative  Learning) 
          วิทยากร  เชียงกูล  (2549)  ได้กล่าวถึงลักษณะการจัดการเรียนการสอนโดยให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกัน  เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ  กลุ่มละ  4-5 คน  โดยสมาชิกในกลุ่มมีระดับความสามารถแต่งต่างกัน
          เทคนิคการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
          ตามความหมายของการเรียนรู้ที่แท้จริง  คือ  ผู้เรียนต้องมีโอกาสนำความรู้ที่เรียนรู้มาไปใช้ในการดำเนินชีวิต  สิ่งที่เรียนรู้กับชีวิตจริงจึงต้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน  ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนประยุกต์ใช้ความรู้ได้โดยสร้างสถานการณ์ให้ผู้เรียนต้องแก้ปัญหาและนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดความชำนาญ
          ตัวอย่างวิธีการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน  ผู้สอนควรเป็นผู้กำกับควบคุมให้ผู้เรียนทุกคนได้ร่วมกันวางแผน  ดำเนินการตามแผน   และร่วมกันสรุปผลงาน  ผู้เรียนแต่ละคนจะได้เลือกและแสดงความสามารถที่ตนเองถนัด  เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย  จึงสามารถกล่าวขยายความได้ว่า  การเรียนรู้โดยใช้โครงงาน  ซึ่งสามารถทำอย่างต่อเนื่องกันได้  โดยมีประเด็นดังนี้
                   1. ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องใดหนึ่งที่ตนเองสนใจ
                   2. ผู้เรียนได้เรียนรู้หรือหาคำตอบด้วยตนเอง  โดยการคิดและปฏิบัติจริง
                   3. วิธีการหาคำตอบมีความหลากหลายจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
                   4. นำข้อมูลหรือข้อความรู้จากการศึกษามาสรุปเป็นคำตอบหรือข้อค้นพบของตนเอง
                   5. มีระยะเวลาในการศึกษาหรือแสวงหาคำตอบพอสมควร
                   6. คำตอบหรือข้อค้นพบเชื่อมโยงต่อการพัฒนาความรู้ต่อไป
                   7. ผู้เรียนมีโอกาสเลือก  วางแผน  และจัดการนำเสนอคำตอบของปัญหาหรือผลการค้นพบด้วยวิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับความถนัดและความสนใจของตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น